:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::

.:: ร้านต้นกล้า ::. .:: ร้านต้นกล้า ::.

วิชาหน้าที่พลเมือง


ณ วันนี้ มีเสียงสนับสนุนจากทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการนำวิชาหน้าที่พลเมือง ประวัติศาสตร์ และศีลธรรม กลับมาสู่ห้องเรียนโดยแยกออกมาเป็นรายวิชาที่มีการเรียนการสอนอย่างเข้มข้น คาดหวังกันว่าจะสามารถนำไปสู่ ความเป็นพลเมืองที่ดีในอนาคตได้



วิชาดังกล่าวนี้ มุ่งหวังปลูกฝังเด็กและเยาวชนของชาติ ให้มีวินัย เกิดความรักชาติ ประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกต้อง เมื่อเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคมไทย สังคมโลก



แต่เดิมหลักสูตรของปี 2503 มีการระบุชัดเป็นรายวิชา คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และสุขศึกษา แต่หลังจากปรับใหม่นั้นวิชาหน้าที่พลเมือง ประวัติศาสตร์ และศีลธรรมเหล่านี้กลับหายไปหมด 



ถ้าถามว่ามีการเรียนการสอนหรือไม่ มีแน่นอน แต่เป็นการสอนแบบบูรณาการที่กำหนดอยู่ในกลุ่ม สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เท่ากับเป็นผงชูรสนิดหน่อย แทบจะหมดความสำคัญไปเลยทีเดียว



อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าวันนี้หรือวันหน้า สังคมไทยต้องเปิดกว้างออกไปสู่โลกภายนอก ต้องเผชิญกับอิทธิพลความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ต่างๆ ฉะนั้นบทบาทของครูและสถานศึกษา จะต้องปรับเปลี่ยนทั้งเนื้อหา วิธีการ ตั้งแต่ผู้บริหาร ครู อาจารย์ผู้สอน นักการภารโรงให้สอดรับกับวิถีโลก วิถีไทย



ดังนั้น การสร้างคนดี มีศีลธรรม จริยธรรม และการบำเพ็ญประโยชน์ นั้นคงไม่พอ แต่ต้องสร้างทั้งคนดีและพลเมืองที่ดีของเพื่อนบ้านและของโลกด้วย



การประพฤติปฏิบัติการจัดกิจกรรมประจำวันของครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องมีพฤติกรรมที่ดีในการสร้างเสริมให้แก่นักเรียนได้เห็นเป็นแบบอย่าง น่านิยมยกย่อง โดยสอนจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวไปไกลตัว จนกลายเป็นเรื่องปกติ เห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เท่ากับเป็นการสร้างพื้นฐานของความเป็นมนุษย์



ก่อนจะเห็นวิชาหน้าที่พลเมือง ประวัติศาสตร์ และ ศีลธรรม กลับสู่ห้องเรียน ผู้บริหารการศึกษา ครู อาจารย์ ผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษาทั้งหลายหันมาทำหน้าที่เป็นพลเมืองดีกันก่อนดีไหม ด้วยการไม่ซื้อตำแหน่ง ไม่ลอกผลงาน มีความซื่อสัตย์ โดยเฉพาะปฏิบัติตามศีล 5 อย่างเคร่งครัด ก็น่าจะใช้ได้
 

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2557


 

:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::