สพฐ.จวก ร.ร.เอกชนสอนภาษาไทย ผิดหลักวิชาการ
สพฐ. ชี้การสอนภาษาไทยของ ร.ร. เอกชนที่ถูกวิจารณ์ให้แซดในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก เป็นการสะกดแบบการเขียน ชี้เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่ไม่ผิดแต่ไม่ถูกหลักวิชาการ ยันไม่สนับสนุนและไม่ให้ ร.ร.สพฐ. สอนด้วยวิธีนี้ยึดหลักการสอนแบบแจกรูป ที่ทำมาแต่อดีตทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้มากกว่า
วันนี้ (4 ก.ค.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยของโรงเรียนสารสาสน์ ที่มีการสอนสะกดภาษาไทยโดยที่ไม่ได้เน้นให้อ่านเพื่อให้เด็กจดจำการออกเสียงที่ถูกต้อง แต่ให้อ่านเพื่อให้เขียนถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ อาทิ คำว่า “จำ” ไม่ได้อ่านว่า “จอ+อำ=จำ” แต่อ่านว่า “จอ+อำ+อา=จำ” หรือ คำว่า “มือ” ไม่ได้อ่านว่า “มอ+อือ=มือ” แต่อ่านว่า “มอ+อือ+ออ=มือ” ว่า ตนได้หารือกับสำนักวิชาการและมาตรฐานการเรียนรู้ และสถาบันการศึกษาภาษาไทย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และผู้เกี่ยวข้องแจ้งว่าการสอนลักษณะดังกล่าวเป็นการสอนเพื่อการเขียน ไม่ใช่การสอนเพื่อการอ่านแบบที่มีการดำเนินการอยู่ ซึ่งรูปแบบและวิธีการที่โรงเรียนเอกชนดังกล่าวใช้อยู่นั้นถือเป็นเทคนิคการสอนอย่างหนึ่งซึ่งไม่ผิดแต่ไม่ถูกหลักวิชาการ อีกทั้งยังเป็นรูปแบบการสอนที่แม้แต่ในอดีตก็ไม่มีสอนแบบนี้ อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนภาษาไทยแก่นักเรียนที่ สพฐ.ดำเนินการอยู่นั้นจะสอนแบบเดียวกับการอ่าน เช่น คำว่า “เป็น” จะอ่านว่า ปอ-เอะ-นอ=เป็น และเมื่อสอนให้เด็กเขียนในคำเดียวกันเด็กจะเรียนรู้ได้เองว่าจะต้องเอาสระมาไว้ข้างหน้าก่อน ซึ่ง สพฐ.เรียกลักษณะการสอนแบบนี้ว่า การสอนแจกรูปที่ถูกหลัก ที่ใช้สอนมาแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในส่วนของโรงเรียนของ สพฐ. นั้นไม่มีโรงเรียนใดใช้วิธีการสอนแบบนี้ และส่วนตัวเห็นว่าโรงเรียนไม่ควรใช้และจะไม่ให้ใช้วิธีการนี้สอนนักเรียนของเราด้วย ซึ่งตนมองว่าการสอนแจกรูปที่ถูกหลักแบบเดิมที่ทำอยู่นั้นเหมาะสมและช่วยให้เด็กอ่านคล่องเขียนคล่องมากกว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรงเรียนที่ใช้เทคนิคดังกล่าวเป็นโรงเรียนเอกชน สพฐ.คงไปทำอะไรไม่ได้ แต่เบื้องต้นจะแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) แจ้งให้ศึกษานิเทศก์ของ สช.ไปลงติดตามตรวจสอบวิธีการสอนต่อ
ด้านนายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า ตนได้มอบให้เจ้าหน้าที่กลุ่มส่งเสริมสถานศึกษาเอกชน สช. ไปตรวจสอบการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยของโรงเรียนในเครือสารสาสน์ ว่า การสอนวิชาภาษาไทยในรูปแบบดังกล่าวดำเนินการมานานแล้วหรือยัง และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กเป็นอย่างไร หรือยังอยู่ในช่วงทดลองสอนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม โดยหลักการไม่ถือว่าเป็นความผิด เพราะในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชนนั้น สช.จะดูเป้าหมายสุดท้ายว่าเด็กมีความรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน อ่านออกเขียนได้หรือไม่ ส่วนเทคนิค และวิธีการสอนนั้น เป็นเรื่องที่สถานศึกษาดำเนินการเองได้ สำหรับแบบเรียนที่ใช้ในการเรียนการสอน รัฐบาลก็เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเขียนตำราขึ้นมาได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบ และหากนำมาใช้ต้องผ่านการตรวจสอบก่อน เพื่อให้เป็นที่น่าเชื่อถือ และยอมรับได้
ผู้ช่วยศาสตร์จารย์ ดร. สุภัค มหาวรากร ประธานหลักสูตรศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต สอนภาษาไทยให้นิสิตระดับปริญญาโท คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า มีความเห็นเกี่ยวกับการสะกดคำตามหลักภาษาไทยที่ถูกต้องนั้นต้องเป็น พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และยังใช้ระบบนี้ในการสอนชาวต่างชาติที่มาเรียนภาษาไทย แต่สำหรับการสะกดแบบใหม่อาจเป็นเพียงแค่พื้นฐานของการสะกดคำ และอาจจะเป็นผลดีกับการเริ่มต้นในการสะกดคำเท่านั้น แต่ระบบนี้เป็นเพียง การทดลองนำมาใช้ กับเด็กนักเรียนที่มีปัญหาเรื่องการอ่านไม่ออก เพราะเป็นการอ่านสะกดคำ เป็นคำๆ
ผู้ช่วยศาสตร์ตราจารย์ ดร. ภาณุพงศ์ อุดมศิลป์ ประธานหลักสูตรศิลปะศาสตร์บัณฑิต สอนภาษาไทยให้นิสิตระดับปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้มีความคิดเห็นว่า การสะกดคำโดยใช้ระบบใหม่ ยังมีผลเสียอยู่ค่อนข้างเยอะ เนื่องจากการใช้หลักดังกล่าว ไม่สามารถใช้ได้กับสระลดรูปได้ เช่น คำว่า ลด และ สระเพิ่มรูป เช่น คำว่า เพิ่ม จะสามารถใช้หลักนี้อธิบายอย่างไร ระบบการสะกดคำแบบใหม่เป็นการสะกดโดยผิดหลักโครงสร้างคำในภาษาไทย และได้ผลดีแค่ในระยะสั้น หรือโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนของนักเรียนไม่เกิน 20 คน ในด้านของความคิดเห็นของผู้ปกครองของนักเรียนที่เรียนการสะกดคำในระบบใหม่ มีความคิดเห็นว่าผู้ปกครองเคยชินกับการสะกดคำในระบบเก่า จึงคิดว่าระบบการสะกดแบบใหม่อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ จึงสรุปได้ว่าการสะกดคำแบบใหม่ อาจเป็นเพียงแค่การทดลองของนักวิชาการรุ่นใหม่ที่จะมาแก้ไขปัญหาการอ่านหนังสือของเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่สามารถสะกดคำได้ และยังไม่ทราบว่าการสะกดคำแบบใหม่จะสามารถใช้ได้ผลกับเด็กทั่วประเทศได้หรือไม่
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 กรกฎาคม 2557