:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::

.:: ร้านต้นกล้า ::. .:: ร้านต้นกล้า ::.

กระทรวงศึกษาธิการติดตามงานด้านการศึกษาตามข้อสั่งการของ คสช.


           ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ 26/2557 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2557 ว่า ที่ประชุมได้ติดตามงานด้านการศึกษา ตามข้อสั่งการของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (หน.คสช.)

● การรับจ้างทำการบ้าน เอกสารงานวิจัยต่างๆ 

ปลัด ศธ.กล่าวว่า ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รายงานเบื้องต้นให้ที่ประชุมรับทราบว่า ได้ตรวจสอบเว็บไซต์ต่างๆ ที่รับจ้างทำการบ้าน หรือเอกสารงานวิจัย พบว่า มีจำนวนมาก และมีมานานแล้ว ทั้ง Facebook Twitter Instagram Line และเว็บไซต์ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า การจะบล็อกเว็บไซต์ต่างๆ เหล่านี้ เป็นเรื่องยาก เหมือนเว็บโป๊ ที่ยิ่งปิดก็ยิ่งเปิด ยิ่งกระจาย 

อย่างไรก็ตาม ศธ.จะจัดให้มีระดมความคิดเห็นเรื่องนี้ในสัปดาห์หน้า โดยให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าภาพ เพราะจะต้องดำเนินการ 2 ทางควบคู่กันไป ทั้งการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์และการปรับเปลี่ยนวิธีการให้การบ้าน โดยครูจะต้องให้ความรู้อย่างเต็มที่ ดูแลใส่ใจนักเรียนให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้บริหารโรงเรียนก็ต้องดูแลครูให้มากขึ้นเช่นกันด้วย 

● ทบทวนประเด็นมหาวิทยาลัยนอกระบบ และการผลิตบัณฑิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน 

ที่ประชุมได้มอบให้ สกอ.จัดประชุมเพื่อหารือทบทวนในประเด็นความไม่เท่าเทียมกันของครู ลูกจ้าง และพนักงานของมหาวิทยาลัยในระบบและนอกระบบ รวมทั้งการทบทวนการผลิตบัณฑิตที่ต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน 



● การปรับปรุงการเรียนการสอนทั้งระบบ

◦ วิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง

- สพฐ. ได้มีการตั้งคณะทำงานจัดทำแผนและยุทธศาสตร์ดำเนินการในการปรับปรุงการเรียนการสอนทั้ง 2 วิชา จะมีการอบรมวิทยากรแกนนำ รวมทั้งได้ทำการคัดเลือกหนังสืออ่านนอกเวลาเรียนรายวิชาประวัติศาสตร์แล้ว ซึ่งในภาคเรียนที่ 2/2557 จะแยกวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาหนึ่ง และกำหนดเป็นจุดเน้นให้ชัดขึ้น โดยเมื่อเรียนไปช่วงหนึ่งแล้ว จะต้องมีการประเมินผลว่า เด็กมีความรักชาติ หรือค่านิยมหลักเพิ่มขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างไร 

ทั้งนี้ จะได้เชิญหน่วยงานภายในของ สพฐ. มาประชุมในวันที่ 26 สิงหาคม 2557 เพื่อสรุปวิเคราะห์หลักสูตรประวัติศาสตร์/หน้าที่พลเมือง รวมทั้งหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งระบบ เช่น ควรจะมีตัวชี้วัดอะไรให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเอง สัดส่วนรายวิชาที่จัดการเรียนการสอนใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้น เพื่อลดเวลาเรียน ตลอดจนการปรับปรุงวิธีการให้การบ้าน รวมทั้งจะมีการหารือถึงประเด็นการเขียนเรียงความ ร่างหนังสือ สรุปความ ย่อความ คิดเลขในใจ เขียนหนังสือให้เร็ว อ่านหนังสือให้เร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งระบบ 

- สอศ. ขณะนี้ได้จัดการเรียนรู้ในรายวิชาประวัติศาสตร์ใหม่ โดยใช้ต้นแบบของสถานศึกษาบางแห่งที่จัดการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ เช่น วิทยาลัยเทคนิค/อาชีวศึกษาน่าน ที่ได้จัดแหล่งเรียนรู้สำหรับนักศึกษาเพื่อสร้างความรักชาติ ความเป็นไทย และตระหนักถึงความเป็นมาของท้องถิ่น เช่น แหล่งเรียนรู้บริเวณแนวชายแดนที่ห้วยโกร๋น อ.ทุ่งช้าง ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษามีความรู้ทั้งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ชาติ นอกจากนี้จะมีการพัฒนาครูผู้สอนให้สามารถสอนอย่างสนุก ไม่น่าเบื่อ โดยจะจัดโครงการนำร่องที่มีการบูรณาการหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้ใน 28 วิทยาลัยทั่วประเทศ 

- สำนักงาน กศน. ได้ดำเนินการในเรื่องหมู่บ้านค่านิยมหลัก ตามโครงการเสริมสร้างค่านิยมหลัก 12 ประการของคนไทย ซึ่งจะร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน คัดเลือกและมอบประกาศเกียรติคุณ "ผู้นำค่านิยมหลัก 12 ประการ" ให้กับประชาชนในหมู่บ้านที่ปฏิบัติตรงกับค่านิยมหลัก โดยนำร่องอำเภอละ 1 หมู่บ้าน รวม 928 หมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อให้ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการเสริมสร้างค่านิยมหลักให้เกิดขึ้นได้ในชุมชน โดยกำหนดให้มีการมอบประกาศเกียรติคุณในทุกไตรมาส และหากผู้ได้รับมอบประกาศนียบัตรได้รับการคัดเลือกครบทุกไตรมาสในหนึ่งปี จะมีการมอบเข็ม "ผู้นำค่านิยมหลัก 12 ประการดีเด่น" ให้บุคคลนั้นๆ ด้วย เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับบุคคลอื่นในชุมชนต่อไป 

- สกอ. ได้บรรจุสาระวิชาหน้าที่พลเมืองไว้ในกิจกรรมต่างๆ ของนิสิตนักศึกษาอยู่แล้ว โดยเลขาธิการ กกอ. เห็นว่า ควรบูรณาการในเรื่องนี้ทั้งหมด รวมทั้งพิจารณาที่ Outcome เช่น เด็ก ป.3 ควรรู้สาระวิชาประวัติศาสตร์มากน้อยเพียงใด และการเพิ่มรายวิชาประวัติศาสตร์ จะต้องไม่เพิ่มชั่วโมงเรียนของเด็กให้มากขึ้นไปอีก เพื่อไม่ให้เกิดโกลาหลในระบบ

◦ การกวดวิชา

- สำนักงาน กศน. ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงโครงการติวเข้มเติมเต็มความรู้ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.) และสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV) รวมทั้งเว็บไซต์ที่สามารถรับชมรายการสด หรือ On Demand ย้อนหลังได้ภายใน 1 เดือน มีคนดูมากกว่า 10 ล้านครั้ง เพื่อนำครูที่มีเทคนิคการสอนที่ดี น่าสนใจ มาช่วยสอนในวิชาต่างๆ ซึ่งจะทำให้นักเรียนที่อยู่ห่างไกลได้เข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ



ทั้งนี้ ศธ.เห็นว่าเรื่องต่างๆ ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการรับจ้างทำการบ้าน การกวดวิชา การอ่าน การเขียนหนังสือ การคิดวิเคราะห์ ตลอดจนการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระ จึงจะจัดให้มีการประชุม Focus Group ทั้งหมดในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อระดมความคิดเห็นและแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบต่อไป เพราะบางเรื่องแก้เร็วไม่ได้ แต่ต้องแก้ทั้งระบบ 

 

ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ


 

:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::