วิธีบริหารเงิน ที่ไม่มีสอนในโรงเรียน
เงินมีบทบาทกับการดำเนินชีวิตของคนเราในทุกๆด้าน เพราะสามารถใช้แลกเปลี่ยนสิ่งอำนวยความสะดวกใช้ซื้อสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทำให้คนเราคุ้นเคยกับการใช้จ่ายเงินมากกว่าการ บริหารเงิน ที่หามาได้ เมื่อใช้จ่ายเงินไม่เป็นระบบเพราะขาดการบริหารก็กลายเป็นปัญหาและก่อให้เกิดหนี้สินตามมา
วิธีบริหารเงิน ที่ไม่มีสอนในโรงเรียน คือข้อคิดดีๆที่เรานำมาฝากในวันนี้ ซึ่งวิธีเหล่านี้พ่อแม่ควรที่จะสอนลูกด้วยตัวเอง และควรฝึกเขาตั้งแต่เด็ก เพื่อปลูกฝังการรู้จัก บริหารเงิน ให้เป็นและการเก็บออมให้กับลูกน้อยของคุณนั่นเอง ว่าแต่มีอะไรบ้างนะ เราไปดูกันค่ะ
1.สอนลูกให้รู้จักค่าของเงิน
สอนลูกให้รู้จักค่าของเงิน เป็นการสอนลูกให้รู้จักการใช้จ่ายเงินที่ถูกต้องตั้งแต่ยังเล็กๆ การเลี้ยงลูกของพ่อแม่ในปัจจุบันไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้เด็กๆหลายๆคน เมื่อพ่อแม่พาเข้าร้านสะดวกซื้อก็จะหยิบจับสิ่งของที่ตนเองสนใจหรือต้องการทันที โดยไม่เห็นความสำคัญในการใช้จ่ายเงิน ซึ่งเด็กๆต้องรู้ว่าการเลือกซื้อสิ่งของควรเกิดจากความจำเป็นในการใช้มากกว่า ดังนั้นเมื่อลูกต้องการจะซื้ออะไรสักอย่างที่ไม่จำเป็น ซึ่งในเวลานั้นคุณก็ไม่ค่อยคล่องเรื่องเงินสักเท่าไหร่ ไม่ควรตามใจลูกแต่ควรสอนลูกให้เขาเข้าใจว่าสิ่งสิ่งนั้นมันไม่จำเป็นเลย โดยต้องสอนให้เขารู้คุณค่าของเงินด้วย เมื่อสอนแบบนี้บ่อยๆ เขาก็จะเข้าใจไปเอง แถมวิธีนี้ยังช่วยลดความเอาแต่ใจของลูกได้ด้วยนะ
2.ปลูกฝังวินัยการออม
การปลูกฝังวินัยการออมต้องทำให้เป็นนิสัย เชื่อว่าเด็กๆทุกคนถูกสอนให้เก็บออมโดยการหยอดกระปุกออมสิน แต่ไม่เคยสอนเด็กให้มีเป้าหมายในการออมเงิน เช่น หยอดกระปุกออมสินไว้เพื่อนำเงินที่ได้ไปเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร หรือสอนให้เด็กรู้จักเก็บออมเงินไว้เพื่อซื้อสิ่งของที่ตนเองต้องการ เช่นซื้อของเล่นราคาแพงๆ ซึ่งนอกจากเป็นการสอนให้เด็กรู้จักเก็บออมเงินแล้ว ยังสอนให้เด็กรู้คุณค่าของเงินว่าเป็นสิ่งที่หายากอีกด้วย ดังนั้นพ่อแม่อย่าลืมที่จะสอนให้เขาเข้าใจด้วยนะคะว่าเราเก็บออมเงินไปเพื่ออะไร และการเก็บออมเงินมีประโยชน์ย่างไร หรืออาจจะสอนให้เขาเก็บออมเงินไว้ซื้อของที่ต้องการด้วยตัวเขาเองก็ได้
3.เรียนรู้ก่อนลงมือทำ
พฤติกรรมของคนส่วนใหญ่มักลอกเลียนแบบคนที่ประสบความสำเร็จ แล้วลงมือทำตามโดยปราศจากการเรียนรู้ทำให้คนเหล่านี้ล้มเหลวในการทำสิ่งต่างๆ มากกว่าประสบความสำเร็จ เพราะไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ก่อนลงมือทำ การเรียนรู้ทุกเรื่องราวก่อนลงมือทำเสมอสอนให้ทุกคนรู้จักคิด รู้จักการวางแผนและทำงานอย่างเป็นระบบ ถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาหรือมีภาระหนี้สินตามมาน้อยมาก และแน่นอนว่าการสอนให้เขาเรียนรู้ก่อนลงมือทำนั้นไม่ได้ทำให้ลดปัญหาทางการเงินลงเท่านั้น แต่ยังทำให้เราเป็นคนรอบคอบ คิดก่อนทำ ซึ่งจะนำไปสู่การประสบความสำเร็จอย่างง่ายดายอีกด้วย
4. หาเงินก่อนใช้เงินเสมอ
เมื่อเราต้องการเงินสำหรับการใช้จ่ายสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ก็ควรหาหนทางเพื่อให้ได้เงินมาอย่างถูกต้อง เมื่อต้องการสิ่งใดก็ต้องลงมือทำเพื่อให้ได้เงินมาไม่ควรให้ความต้องการของตนเองไปทำร้ายหรือรบกวนคนอื่น หลีกเลี่ยงการนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อน เช่น การกู้ยืมเงินประกันชีวิตหรือการกู้ยืมเงินที่ต้องนำเงินเก็บออมของเราค้ำประกันซึ่งวัยของลูกน้อยนั้นอาจไม่สามารถหาเงินได้ด้วยตัวเอง แต่คุณสามารถสอนให้เขาเก็บออมเงินเมื่ออยากได้สิ่งของที่ต้องการได้ ซึ่งจะทำให้เขาเรียนรู้ที่จะไม่รบกวนพ่อแม่เมื่อยากได้อะไรสักอย่าง แต่ขาจะเก็บเงินเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาด้วยความพยายามของเขาเอง
5.เงินมีความสำคัญแต่ไม่ใช่ทุกสิ่งของชีวิต
การใช้เงินแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต ทำให้คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเงินจนลืมคิดไปว่าเงินไม่ใช่ทุกสิ่งของชีวิต เมื่อคิดว่าเงินคือสิ่งที่สำคัญทำให้เกิดการแข่งขันในทุกๆด้าน แข่งกันประกอบอาชีพแข่งกันซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆเพื่อบ่งบอกความมั่งมี แต่อย่าลืมว่าเงินไม่ได้ทำให้เรามีความสุขเสมอไป การมีเงินอาจไม่มีความสุข และการไปกู้ยืมเงินคนอื่นมาเพื่อให้ตนมีเงินใช้ก็ไม่ทำให้คนเรามีความสุขเหมือนกัน
วิธีบริหารเงิน ที่ไม่มีสอนในโรงเรียน จึงนอกจากจะเป็นเรื่องของวิธีปฏิบัติเพื่อปลูกฝังให้เกิดความเคยชินในการ บริหารเงิน แล้ว ยังเป็นเรื่องของแนวคิดและมุมมองที่ทุกคนควรคิดวิเคราะห์และเรียนหลักการ บริหารเงิน เพื่อการดำรงชีวิต เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีสอนอยู่ในโรงเรียนทุกคนจึงต้องเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องและเข้าใจเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพนั้นเอง
และที่สำคัญอย่าลืมสอนลูกน้อยของคุณให้รู้จักบริหารการใช้จ่ายเงินตั้งแต่ยังเล็กนะคะ เพราะจะปลูกฝังนิสัยการใช้จ่ายเงินให้กับเขาไปจนโตนั่นเอง เมื่อถึงตอนนั้นหากเขามีวินัยในการจ่ายเงินที่ดีตั้งแต่เด็ก เขาก็จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก
ที่มา www.sanook.com
เนื้อหาโดย MoneyHub