:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::

.:: ร้านต้นกล้า ::. .:: ร้านต้นกล้า ::.

ครูหนุ่ยแจงงบฯเน็ตให้ 900 ร.ร.ชนบท-หนุนเด็กชาวเขาจบม.6เข้าโครงการ"คุรุทายาท


จากการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปี 2559 เมื่อต้นสัปดาห์ ที่อาคารนิทรรศการ 2 อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ตำบลแม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า "รู้สึกปลาบปลื้มที่ได้ชมงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งทำต่อเนื่องมาหลายปี ส่งผลให้มีการต่อยอดขยายผลก่อให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางแก่ราษฎรที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารไม่อาจประสบผลสำเร็จได้ หากปราศจากความเห็นที่สอดคล้องต้องกันและความร่วมมืออย่างดีจากหลายฝ่าย ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สถาบันวิจัยและพัฒนาบนพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ตลอดจนภาคเอกชนหลายแห่ง"

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า มีโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ทรงงานประมาณ 1,200 โรง นักเรียน 12,000 คน ครู 6,000 กว่าคน ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้อยู่ในถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล โดยรัฐบาลได้จัดอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงลงไปให้ในปีงบประมาณ 2560 เพราะอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงยังเข้าไม่ถึง 900 โรง อย่างไรก็ตามทุกหน่วยงานต้องร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้สอดคล้องกับแนวพระราชดำริทั้ง 5 ด้าน คือ การส่งเสริมโภชนาการและสุขอนามัย การส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพตามบริบทของชุมชน การศึกษา การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดศธ. กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระเมตตาต่อผู้ด้อยโอกาสและผู้ที่เข้าถึงการศึกษาได้ยาก โดยไม่เน้นแต่การอ่านออกเขียนได้ แต่ให้รวมถึงการสร้างจินตนาการโดยใช้ศิลปะวาดออกมาเป็นภาพ รวมถึงมีโครงการที่มีความสำคัญสำหรับประเทศ คือ การปลูกป่าสร้างรายได้ ซึ่ง กศน.ดำเนินการมาหลายปีแล้ว

นอกจากนี้พระองค์ท่านยังได้รับสั่งถามเด็กชาวเขาว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร ซึ่งเด็กก็ตอบว่าอยากเป็นครู พระองค์ท่านจึงหันมาถามผู้บริหาร ศธ.ว่า ทำได้หรือไม่ ซึ่งตนได้กราบบังคมทูลว่าเด็กต้องเรียนให้จบ ม.6 ก่อน จากนั้นจะมีโครงการคุรุทายาทที่รองรับได้ ซึ่ง ศธ.จะกลับมาพิจารณาหลักเกณฑ์เพื่อรองรับเด็กกลุ่มนี้ เนื่องจากหากได้เด็กในพื้นที่มาเรียนครูแล้วกลับไปพัฒนาท้องถิ่นตัวเองได้จะดีมาก 

 

ที่มา ครูบ้านนอก


 

:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::