:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::

.:: ร้านต้นกล้า ::. .:: ร้านต้นกล้า ::.

ย้อนรอย ปี 2559 “ลิงชุลมุน” เปิดยุทธศาสตร์ ม.44 ขับเคลื่อนการศึกษาชาติทางออกปฏิรูปประเทศ?


“จากการทำงานร่วมกับผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการมาตลอดระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ได้เห็นถึงศักยภาพในการทำงานที่มีทั้งความรู้ ความคิดและการแก้ไขปัญหา จึงเชื่อว่างานต่างๆ จะเดินหน้าต่อไปได้ ณ นาทีนี้เชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของราชการ ว่าจะทำงานร่วมกับรมว.ศึกษาธิการคนใหม่ได้เป็นอย่างดี ผมจึงไม่ห่วงอะไร จากนี้ก็จะไปปฏิบัติหน้าที่ใหม่อย่างสุดความสามารถ”

คำกล่าวในวันอำลาตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2559 ของ พล.อ.ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ องคมนตรี จากการคุมบังเหียนกระทรวงคุณครูเป็นเวลา 1 ปีกับอีก 108 วัน ที่ดูเสมือนจะฝากความหวังในการขับเคลื่อนงาน การศึกษาชาติไว้กับข้าราชการในฐานะผู้ปฏิบัติ

ในโอกาสที่ ปี 2559 “ลิงชุลมุน” กำลังจะผ่านพ้นไป ในอีก 2 วันข้างหน้า “ทีมการศึกษา” ขอย้อนเวลากลับไปตั้งแต่เปิดศักราชต้อนรับปีวอก หลังเข้ามาเรียนรู้งานด้านการศึกษาเพียงไม่กี่เดือน พล.อ.ดาว์พงษ์ ได้เดินหน้าปฏิรูปการศึกษาจนเกิดผลในหลายเรื่อง

เริ่มตั้งแต่การขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา และปัญหาที่เกี่ยวเนื่องด้วยการใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ปีเดียวถึง 15 คำสั่ง ทั้งยังชงขอใช้ ม.44 เพิ่มเติมไปเรียบร้อยแล้ว 2 คำสั่ง และจ่อคิวอีก 1 คำสั่ง

ประเดิมคำสั่งแรกก็สร้างความฮือฮาให้กับสังคมด้วยการปรับโครงสร้างการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการใหม่ ให้มีการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค โดยจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค มี รมว.ศึกษาธิการเป็นประธาน เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงาน

และตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หรือ กศจ. มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการการศึกษาในจังหวัด ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาลงไปสู่ภูมิภาค โดยมีสำนักงานศึกษาธิการภาค 18 ภาค ปฏิบัติภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ และขับเคลื่อนการศึกษาระดับภาคและจังหวัด เพื่อเตรียมรองรับการปรับโครงสร้างใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการที่จะมีขึ้นในอนาคต

พร้อมสั่งยุบคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา 225 เขตทั่วประเทศ เหตุผลเพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่เป็นเอกภาพ แล้วโอนอำนาจทั้งหมดให้ กศจ.ดำเนินการแทน ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการ “ล้างบางขั้วอำนาจเก่า” ที่ไม่เคยมีใครกล้าแตะ

ตามมาด้วย ม.44 เรื่องให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ซึ่งหมายความว่า รัฐจะต้องจัดการศึกษาให้กับเด็กไทย ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6หรือเทียบเท่า โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา ที่มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาความยากจน ท่ามกลางการถูกมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดจาก “ปมร้อน”ในร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้เรียนฟรีตามการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี จนเกือบเสียรังวัด

จากนั้นไม่นานก็นำ ม.44 มาใช้ในปมปัญหาที่เกาะกินใจผู้คนในสังคมมาเป็นเวลายาวนาน นั่นคือ เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนและนักศึกษา เพื่อจัดระเบียบสังคมและแก้ปัญหานักเรียน–นักเลงที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนและสังคม ทั้งยังเกิดภาพลักษณ์ในทางลบจนส่งผลกระทบต่อค่านิยมในการเรียนต่อสายอาชีวศึกษา

และยาแรงที่ คสช.หยิบมาใช้คือ การดึงพ่อ แม่ ผู้ปกครอง มาร่วมรับผิดชอบ หากลูกหลานกระทำความผิด พ่อ แม่มีสิทธิ์ต้องเจอโทษด้วยโดยมีสิทธิ์ถูกเรียกเก็บเงินประกัน และหากกระทำผิดซ้ำเงินประกันจะถูกริบเข้ากองทุนคุ้มครองเด็กพ่วงด้วยมาตรการดัดหลังศิษย์เก่าที่ชอบยุยงส่งเสริม หรือสนับสนุนรุ่นน้อง ด้วยกฎเหล็กต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับ 3 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าเหตุนั้นรุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต โทษจะขยับเป็น 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การจัดระเบียบและแก้ปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา เป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่มีการนำ ม.44 มาเป็นเครื่องมือ ด้วยการตั้งคณะกรรมการเข้าไปควบคุมมหาวิทยาลัย ที่มีปัญหาทั้งในเรื่องของหลัก สูตรที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ผลิตบัณฑิตไม่มีคุณภาพ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ หรือมีปัญหาธรรมาภิบาลของสภามหาวิทยาลัยหรือผู้บริหาร จนเกิดการร้องเรียนและฟ้องร้องทางคดี ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการจัดการศึกษาและกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศ

ประเดิมคำสั่งด้วยการควบคุม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ก่อนทยอยเป็นระลอกตามคำแนะนำของ คณะกรรมการการ อุดมศึกษาหรือ กกอ. เข้าควบคุม มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก และล่าสุดเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2559บอร์ด กกอ. ยังมีมติจะส่งคำแนะนำให้ รมว.ศึกษาธิการเข้า แก้ปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัยเพิ่มเติมอีกต่อเนื่องแบบไม่หยุดยั้งด้วย คำสั่งเรื่องการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน จากเดิมที่อยู่ต่างสังกัดมารวมอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อให้การจัดการอาชีวศึกษาเป็นไปอย่างมีเอกภาพ เชื่อมโยงและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งยังมีการใช้ ม.44 ปลดผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ.

และนอกเหนือจากการใช้ ม.44 ในการ ขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิรูปการศึกษาแล้ว กระทรวงศึกษาธิการขณะอยู่ภายใต้การนำของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ยังมีนโยบายพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูอย่างเป็นระบบผ่าน โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ให้เร่งดำเนินโครงการระยะแรกเป็นเวลา 3 ปีคือตั้งแต่ปี 2559-2561ส่วนระยะต่อไปตั้งแต่ปี 2562-2572 ให้ นำไปบรรจุในแผนปฏิรูปประเทศไทย ด้วยความหวังว่าจะดึงคนดีคนเก่ง เข้ามาเป็นครู แล้วส่งกลับไปบรรจุในภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในชุมชนท้องถิ่นและลดการโยกย้ายซึ่งเป็นปมปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้

พร้อมสั่งปรับรูปแบบการอบรมและพัฒนาครู เพื่อไม่ให้ครูต้องทิ้งห้องเรียน มีการพัฒนาครูสอนภาษาอังกฤษ การให้ครูที่สอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สอบวัดความรู้ เพื่อการพัฒนาที่ตรงจุด การบรรจุครูให้ครบชั้นและสอนตรงตามสาขา

การทบทวนปรับปรุงหลักสูตร และคลอดแนวทางการบริหารจัดการเวลาเรียนของเด็กไทย กับนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อให้เด็กได้เรียนอย่างมีความสุข ด้วยการลดการบ้านต่อวัน และเพิ่มเวลารู้ผ่านกิจกรรมที่เด็กสนใจ การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้านการคิดคำนวณและการอ่านออกเขียนได้ การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนที่เน้นการให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ และรู้จักแก้ปัญหาทั้งยังเน้นการสอนให้เด็กมีคุณธรรม จริยธรรม ควบคู่ไปกับการมีความรู้ การยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาอังกฤษและประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดโครงการโรงเรียนประชารัฐ

ทั้งยังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยขยาย โครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อให้นักเรียนที่อยู่ในชนบทห่างไกลใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู มีครูไม่ครบชั้น และที่สำคัญคือสั่งเดินหน้ามาตรการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กด้วยเป้าหมายการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 120 คน จำนวน 15,703 โรง ผ่าน โครงการโรงเรียนดีใกล้บ้านเพื่อคุณภาพทางการศึกษาที่ดีของเด็ก ซึ่งในปี 2559 ได้ยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไปแล้วจำนวน 702 โรง

“ทีมการศึกษา” คงไม่สามารถฟันธงว่า ยุทธศาสตร์ที่กระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนมาตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็มที่ผ่านมา จะเดินมาถูกทางจนถือได้ว่าเป็นทางออกของการปฏิรูปประเทศ อย่างที่สังคมตั้งความหวังไว้หรือไม่ เพราะหลายเรื่องยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับสังคมได้เต็มร้อยว่าจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยได้จริง เนื่องจากคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องตัดสิน

แต่สิ่งที่เราต้องขอฝากความหวังกับรัฐบาล คสช. คือความจริงใจและจริงจัง ในการเร่งแก้ปัญหาวิกฤติการศึกษาชาติ ไม่ว่าจะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมากี่ครั้ง กี่คน ก็ต้องเดินหน้าขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษา กลายเป็นทางออกปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง

เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงแม้ข้าราชการจะเป็นจักรกลสำคัญ ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้เห็นผล แต่รัฐมนตรีที่เป็นหัวขบวนนำทัพการปฏิรูปการศึกษาชาติ ย่อมมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

อย่าให้แสงไฟที่เห็นอยู่ปลายอุโมงค์ในปี 2559 “ลิงชุลมุน” ต้องดับมืดลงในปี “ไก่ทอง” 2560 เลย!!!

 



ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2559


 

:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::