:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::

.:: ร้านต้นกล้า ::. .:: ร้านต้นกล้า ::.

วอนศธ.ดูแลรร.ขนาดกลาง-เล็กสกัดเด็กหลุดจากระบบ


วอนศธ.ดูแลรร.ขนาดกลาง-เล็กสกัดเด็กหลุดจากระบบ 

“สมพงษ์” เผยผลวิจัยพบมีเด็กอยู่รอดในระบบการศึกษาเพียง 30% แนะ ศธ.ปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ใส่ใจกระจายอำนาจให้โรงเรียนขนาดเล็ก และกลางมากขึ้น ดันโรงเรียนดังเป็นนิติบุคล ชี้หลักสูตรใหม่เมิน “เศรษฐกิจพอเพียง” จะทำให้เด็กยึดติดแต่วัตถุนิยม

วันนี้(9เม.ย.) รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการจัดการศึกษา ของงานวิจัยโครงการบูรณาการพลังเด็ก และเยาวชนกับพลังชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเด็กและเยาวชน โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า การจัดการศึกษาในปัจจุบันสนองตอบต่อผู้เรียนแค่ 30% ที่อยู่รอดในระบบได้เรียนในโรงเรียนดีเด่นดัง จำนวน 369 โรง จนกระทั่งจบระดับอุดมศึกษา โดยในจำนวนนี้ 10% มีคุณภาพจบแล้วมีงานทำ ที่เหลืออีก 20% จบแล้วต้องรองานอีก 1-2 ปี ส่วนอีก 70% เรียนอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก และกลางอีก 30,000 กว่าโรง ซึ่งได้รับความรู้แบบครึ่งๆกลางๆ และมีจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบโรงเรียนเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง ขาดโอกาส ถูกทอดทิ้ง เนื่องจากระบบการศึกษาเป็นตัวบีบให้เด็กหลุดจากระบบ 

“ถ้าจะสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนทุกคน จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ โดยให้ความสำคัญ และหันมามองโรงเรียนขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งเป็นฐานใหญ่สำหรับกลุ่มผู้แพ้ ยากจนและขัดสนไม่ใช่ปล่อยไปตามยถากรรม โดยกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ต้องกระจายอำนาจการบริหารงานให้โรงเรียนขนาดเล็ก และกลาง ได้ตัดสินใจด้วยตนเอง ใช้หลักสูตรท้องถิ่น จัดการศึกษาเพื่อดึงเด็กกลับชุมชน หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรยุบโรงเรียนขนาดเล็ก หรืออาจโอนโรงเรียนขนาดเล็กให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ได้ ส่วนโรงเรียนดีเด่นดัง 369 โรง ควรยกฐานะให้เป็นนิติบุคคล ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องกล้าตัดสินใจครั้งใหญ่ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนา โรงเรียนขนาดเล็กและกลาง” รศ.ดร.สม พงษ์ กล่าวและว่า ตัวอย่างโรงเรียนที่มีการจัดการที่ดี อาทิ รร.หนองขนาก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี รองรับเด็กชายขอบ รร.ควนโดนวิทยา อ.ควนโดน จ.สตูล ซึ่งมีสภานักเรียนที่โดดเด่น และปลอดขยะ อย่างไรก็ตามแม้ว่าโจทย์การศึกษาจะเป็นเรื่องยาก แต่ต้องรีบแก้ไข ส่วนเรื่องการจัดทำหลักสูตรใหม่ที่ลืมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะทำให้เกิดความเป็นวัตถุนิยม แท็บเล็ตนิยม ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา. 

 

ที่มา เดลินิวส์ วันพุธ 9 เมษายน 2557


 

:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::