:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::

.:: ร้านต้นกล้า ::. .:: ร้านต้นกล้า ::.

สุดยอด! “จุฬาฯ-มหิดล-มก.” ติดอันดับท็อป 100 ของโลก


ปลื้ม! ผลจัดอันดับ QS 2014 สาขาวิชา “เกษตรฯ-เภสัช-วิศวกรรมเคมี” ติดอันดับท็อป 100 ของโลก “จุฬาฯ” เจ๋งมี 14 สาขาวิชาถูกจัดอันดับ 1-400 รองลงมา คือ มหิดล ม.เชียงใหม่ และ มจธ. เลขาธิการ กกอ. เล็งขยายผลหนุนมหา'ลัยสร้างงานวิจัยเชื่อมภาคอุตสาหกรรมและพัฒนาคนระดับสูง หวังขึ้นแท่นมหา'ลัยโลก
       
       ศ.(พิเศษ) ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) เปิดเผยว่า จาก การจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ Quacquarelli Symonds (QS) ประจำปี 2014 ซึ่งได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นในสาขาวิชาต่างๆ ของโลกในชื่อ QS World University Rankings by Subject 2014 โดยแบ่งกลุ่มสาขา วิชาย่อยเป็น 5 กลุ่มสาขาวิชา ได้แก่ มนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์ วิศวกรรมและเทคโนโลยี แพทยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชีวิต วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และสังคมศาสตร์ ในส่วนของมหาวิทยาลัยไทย พบว่า มี 3 แห่งที่มีสาขาวิชาที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน 100 อันดับแรก ได้แก่ สาขาวิชาด้านเกษตรศาสตร์และวนศาสตร์ (Agriculture & Forestry) ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) อยู่ในอันดับที่ 48 สาขาวิชาด้านเภสัชศาสตร์และเภสัชวิทยา (Pharmacy & Phamacology) ของมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) อยู่ในอันดับที่ 49 และ สาขาวิชาด้านวิศวกรรมเคมี (Engineering - Chemical) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ในช่วงอันดับที่ 51-100 
       
       ขณะเดียวกัน หากจำแนกอันดับตามรายมหาวิทยาลัยเป็น 400 อันดับ จะพบว่ามีมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับอย่างน้อยหนึ่งสาขาวิชาเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อย่างไรก็ตาม เฉพาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีจำนวนสาขาวิชาที่ติดในช่วงอันดับ 1-400 มากที่สุด จำนวน 14 สาขาวิชา รองลงมาได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 4 สาขาวิชา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จำนวน 3 สาขาวิชา
       
       “จากผลการจัดอันดับ สกอ. จะนำมาขยายผล โดยเร่งส่งเสริมและสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยไทยต่อยอดการพัฒนาสาขาวิชาต่างๆ ที่มีศักยภาพสูง เพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศด้านวิชาการ ยกระดับคุณภาพมาตรฐาน และยกระดับการบริหารจัดการการศึกษา โดยเน้นการวิจัยที่เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ ในระดับสูง เพื่อผลักดันให้มหาวิทยาลัยไทยก้าวไปสู่มหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ต่อไป” เลขาธิการ กกอ. กล่าว
 




ขอขอบคุณข่าวสาร/ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการ

 

:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::