:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::

.:: ร้านต้นกล้า ::. .:: ร้านต้นกล้า ::.

เสนอแนวทางปั้นแม่พิมพ์คุณภาพ


อนุกรรมการปฏิรูประบบผลิตครูฯ ชงปรับแนวทางผลิตครูต้องเน้นผลิตตามปริมาณที่ต้องการจริง และต้องปรับโครงสร้างหลักสูตรใหม่จาก 5 ปีจบปริญญาตรี เป็น 6 จบปริญญญญาโท พร้อมเสนอให้ สกอ.ทำหน้าที่ประสานงานผู้ผลิตกับผู้ใช้ครูเหมือนกรมการฝึกหัดครูในอดีต

วันนี้(24ก.ย.)รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ฐานะประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบผลิตและพัฒนาครูให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ เปิดเผยว่า จาการประชุมคณะอนุกรรมการฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า หากต้องการผลิตครูให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการครูและมีคุณภาพ ควรต้องดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 1. ระบบการผลิตครูควรเป็นระบบกึ่งปิด ที่ผลิตครูตามจำนวนความต้องการของผู้ใช้ โดยผลิตเผื่อความต้องการครูของหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) เป็นต้น และ 2.ควรมีการปรับโครงสร้างหลักสูตรการผลิตครูใหม่ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมแก่ผู้เรียนสายครู

รศ.ดร.มนตรี กล่าวต่อไปว่า ที่เสนอให้มีการปรับโครงสร้างหลักสูตรครู คือ จากปัจจุบันที่หลักสูตรครูเป็นหลักสูตรปริญญาตรี 5ปี แต่ผู้ที่เรียนหลักสูตรนี้จะรู้สึกเสียเปรียบคนที่เรียนด้วยระบบ 4+1 คือ จบปริญญาตรีสาขาอื่นแล้วมาเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต(ป.บัณฑิต)ทางการศึกษาแล้วสามารถนำรายวิชาที่เรียนไปเทียบโอนเพื่อเรียนต่อระดับปริญญาโทได้ ขณะที่คนที่เรียนหลักสูตร 5 ปีกลับไม่สามารถนำบางรายวิชาไปเทียบโอนเพื่อเรียนต่อปริญญาโทได้ ดังนั้นทางคณะอนุกรรมการฯจึงเสนอว่าควรปรับโครงสร้างหลักสูตรครู 5 ปี เป็น 2+2+2 รวมเป็น 6 ปีจบระดับปริญญาโท โดยการเรียน2ปีแรกเป็นการเรียนเพื่อให้สอนได้ทุกกลุ่มสาระเมื่อเรียนจบภาคทฤษฎีแล้วก็ให้ฝึกงานซึ่งจะอยู่ภายใน 2 ปีนั้น แล้วให้กลับมาเลือกเรียนเฉพาะวิชาเอกหรือวิชาเฉพาะและฝึกงานรวมเวลาอีก 2 ปี จากนั้นให้กลับมาเรียนอีก2 ปีเมื่อครบ 6 ปี ก็จะได้รับวุฒิการศึกษาเทียบเท่าระดับปริญญาโท ซึ่งวิธีนี้จะให้ความเป็นธรรมกับผู้เรียนครูโดยตรงมากกว่า

“นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีความเห็นด้วยว่า ควรนำอัตราเกษียณอายุราชการในแต่ละปีมากำหนดเป็นจำนวนรับผู้เข้าเรียนสายครู โดยรับประกันการมีงานทำให้ทุกคน ส่วนกรณีของครูอาชีวศึกษานั้นทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) จำเป็นต้องหารือกับฝ่ายผลิตโดยตรง เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาขาดครูผู้สอนสายอาชีพ ทั้งนี้ที่ประชุมจะสรุปประเด็นทั้งหมดเป็นข้อเสนอให้คณะกรรมการปฏิรูประบบ การผลิตและพัฒนาครูของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)พิจารณา เพื่อนำไปสู่แนวปฏิบัติในเร็วๆนี้”รศ.ดร.มนตรีกล่าวและว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าจุดอ่อนของระบบผลิตครูในประเทศไทย คือ การขาดหน่วยงานและผู้ประสานงานที่ดีระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ ดังนั้นอยากเสนอให้รัฐบาลพิจารณาออกกฎหมายและมอบอำนาจให้ สกอ.ทำหน้าที่เป็น ผู้กำกับ ดูแลและติดตามความต้องการของผู้ใช้อย่างแท้จริง เช่นเดียวกับกรมการฝึกหัดครูในอดีต ซึ่งหากมีผู้ประสานงานมีอำนาจชัดเจนก็จะแก้ปัญหาการผลิตครูทั้งระบบได้

 

 

ที่มา เดลินิวส์ วันพุธ 24 กันยายน 2557


 

:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::