การศึกษาไทยในอาเซียน
เลาะเลียบคลองผดุงฯ
ตุลย์ ณ ราชดำเนิน tulacom@gmail.com
หนึ่งในปฏิญญาว่าด้วยแผนงานความร่วมมือด้านการศึกษาในประชาคมอาเซียน ถูกกำหนดให้เป็นเครื่องมือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่มีประชากรรวมแล้วกว่า 600 ล้านคนเป็นศูนย์กลางและมีความรับผิดชอบทางสังคม ดังนั้น การเตรียมความพร้อมของคนไทยรุ่นใหม่จึงมีความจำเป็น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทกระทรวงศึกษาธิการ คงปฏิเสธถึงความรับผิดชอบเรื่องนี้ไปไม่ได้
ขออนุญาตนำบทคัดย่อจากวิจัย เรื่อง ความท้าทายและโอกาสของการศึกษาไทยในประชาคมอาเซียน The Challenge and Opportunity of Thai Education In ASEAN Economic Community ของ อรุณี เลิศกรกิจจา มหาวิทยาลัยนานาชาติ แสตมฟอร์ด โดยสรุปความส่วนหนึ่งมาให้เห็น
พบว่ามีเพียงเงื่อนไขเดียว คือ การผลิตยังอยู่ในเกณฑ์ด้อยทั้งด้านทรัพยากรความรู้และทรัพยากรมนุษย์ ไล่ไปถึงด้านภาพรวมสมรรถนะด้านการศึกษา และความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ อาจสรุปได้ว่า การศึกษาของประเทศยังมีความสามารถในการแข่งขัน แต่ต้องวางแผนกลยุทธ์ และแผนปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริง โดยเริ่มต้นทันทีตั้งแต่บัดนี้
ดังนั้น การคิดฝันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษา (Education Hub) นอกจากต้องปรับเปลี่ยนปรัชญาการศึกษาแล้ว การเพิ่มทักษะด้านภาษายังมีความจำเป็นเช่นกัน
นอกจากนี้ อุดมศึกษาในอาเซียนจะกลายเป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่และไร้พรมแดน เพื่อตอบสนองการเปิดเสรีการศึกษาทั้งในกรอบอาเซียนและการค้าโลก ต้องเข้าสู่การแข่งขันในการให้บริการและมาตรฐาน ที่ต้องเข้าสู่ความเป็นนานาชาติและ World Class University ตามระบบและรูปแบบของยุโรปและอเมริกา
แต่จากผลการจัดอันดับของ IMD ภาพรวม พบว่าไทยได้อันดับที่ 26 อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สมรรถนะด้านการศึกษา ภาพรวมไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 47 อยู่ในเกณฑ์ด้อยคุณภาพ เพราะความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของไทยด้อยมาก โดยอยู่ในอันดับที่ 54
การตอบสนองความสามารถในการแข่งขันของระบบการศึกษาไทยพบถูกจัดอันดับที่ 32 หรืออยู่ในระดับค่อนไปทางด้อย ส่วนการจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการภาคธุรกิจ ไทยอยู่ในอันดับที่ 30 หากจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ผลิตคนไม่ตรงกับความต้องการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ