:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::

.:: ร้านต้นกล้า ::. .:: ร้านต้นกล้า ::.

ครูแนะปรับวิธีสอน 3 ช่วงวัย “อนุบาล-ประถม-มัธยม”


ครูการศึกษาพิเศษ “คุณพุ่ม” แนะปรับแนวทางสอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3 ช่วงวัย ชี้ “แรกเกิด-อนุบาล” ต้องสร้างพัฒนาการ 4 ด้าน สอนเด็กภาคภูมิใจตนเอง “วัยประถม” เลี่ยงตำหนิเมื่อเด็กล้มเหลว เน้นสร้างกระบวนการเรียนรู้ ขณะที่ “มัธยม” ต้องสอนคิด วิเคราะห์ แยกแยะ เพิ่มความสามารถสื่อสาร แก้ปัญหา สมศ.เผยตัวชี้วัดเหมาะสมการเรียนรู้

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาการจัดการศึกษาพิเศษ “คุณพุ่ม” คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตั้งแต่เด็กวัยแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุของรัฐบาลว่า ตนสนับสนุนนโยบายดังกล่าว โดยสิ่งสำคัญคือการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วงวัย โดยมีข้อเสนอดังนี้ 1. วัยแรกเกิดถึงวัยอนุบาล บทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครองมีความสำคัญมาก รวมถึงครูที่ต้องมีบทบาทร่วมกันในการส่งเสริมและสร้างประสบการณ์ เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีทั้ง 4 ด้าน และเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง เช่น ฝึกให้เด็กเคลื่อนไหวร่างกาย สอนให้เด็กช่วยเหลือตนเองได้เหมาะสมกับวัย ให้โอกาสเด็กได้ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อให้เด็กมีความพร้อมมากที่สุด เช่น กินข้าว อาบน้ำ แต่งตัว เข้าห้องน้ำ ช่วยงานบ้านต่างๆ ซึ่งจะฝึกความคิด การตัดสินใจ การลงมือทำ พัฒนาความภาคภูมิใจในตนเอง

รศ.ดร.ดารณีกล่าวว่า 2. ระดับประถมศึกษา เป็นช่วงวัยแห่งความขยันหมั่นเพียร พร้อมจะเรียนรู้มุ่งมั่น ดังนั้น ครูจึงมีหน้าที่ในการสนับสนุน ไม่ควรตัดสินผู้เรียนเมื่อทำผิดพลาดว่า ล้มเหลว หรือถูกตำหนิจากพ่อแม่ ซึ่งอาจทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถที่จะเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ ดังนั้น กระบวนการจัดการเรียนการสอนต้องเน้นให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ และพัฒนาความรู้ได้ตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพของตนเอง สอนให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีการจัดกิจกรรมและกระบวนการให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน


รศ.ดร.ดารณีกล่าวว่า และ 3. ระดับมัธยมศึกษา เป็นช่วงวัยที่เริ่มเผชิญกับความซับซ้อนของสังคม ดังนั้น เด็กในช่วงวัยนี้ต้องมีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และแยกแยะได้ ซึ่งครูต้องคำนึงถึงหลักพัฒนาการทางสมองและความสามารถในการค้นหาความรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้กำหนดมาตรฐานด้านการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพที่สำคัญของผู้เรียน โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขใน 5 ประการ คือ ความสามารถในการสื่อสาร เพื่อขจัดและลดปัญหาความขัดแย้ง ความสามารถในการคิดอย่างมีระบบ ความสามารถในการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม บนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรม การเข้าใจความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคม ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต รู้จักปรับตัว และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี


ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า การพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กในทุกช่วงวัยมีความสำคัญ กาปรระเมินคุณภาพภายนอก สมศ.จึงได้กำหนดตัวบ่งชี้ที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียนโดยเฉพาะ เพื่อการพัฒนาทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และคุณค่าทางสังคม อาทิ ผู้เรียนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ ผู้เรียนมีความใฝ่รู้และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน ฯลฯ

 

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 11 มกราคม 2559


 

:: สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute) ::