พัฒนาทักษะเด็กปฐมวัย ด้วยพลังชุมชนท้องถิ่น
นานมาแล้ว ที่เรามักจะมองว่าหน้าที่ส่งเสริมและให้การศึกษาเด็กๆ จะต้องอยู่ที่สถาบันการศึกษาเพียง อย่างเดียว แต่เมื่อมาถึงวันนี้เราพบแล้วว่า ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว องค์กร มีส่วนในการช่วยส่งเสริม พัฒนา องค์ความรู้ให้เด็กๆ มีทักษะชีวิตที่เหมาะสม ตามวัยควบคู่ไปได้เช่นกัน โดยเฉพาะการเริ่มต้นตั้งแต่เด็กปฐมวัย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่าย ร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน มูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และเครือข่ายคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ แถลงข่าว "เล่น อ่าน ปั้นเด็ก โดยชุมชนท้องถิ่น" เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสานพลังองค์กรเครือข่าย ในการพัฒนาระบบดูแลเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา และเสนอกลไกขับเคลื่อนการทำงานฝ่ายปฏิบัติการในชุมชนท้องถิ่น
นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. เปิดเผยว่า เวทีนี้เป็นการสาธิตให้กับสังคมรู้ว่า การขับเคลื่อนงานให้ประสบความสำเร็จจะต้องอาศัยการ สานพลัง ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับชุมชน ได้แลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องระบบการดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชนท้องถิ่น และจะมี สถาบันวิชาการเข้ามามีบทบาทในการ กระตุ้น เพื่อให้โรงเรียนมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการดูแลเด็ก โดยเฉพาะการ ส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้ ที่เน้นเนื้อหาสาระของสุขภาพ ทั้งนี้ จากบทเรียนในเชิง การทำงานในพื้นที่สะท้อนให้เห็นว่าการเรียน การสอนในระบบเดิมยังเป็นต้นทุนที่สำคัญ แต่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทและกิจกรรมบางอย่าง
"สสส.มีบทบาทในการพัฒนาโมเดลที่เป็นรูปแบบและแนวทางในการพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น เปลี่ยนจากการประเมินเด็กในภาพรวมเป็นแยก รายบุคคล และเข้าไปพัฒนาให้เห็นว่า การดูแลเด็กปฐมวัย จะต้องมีหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง เพื่อจะได้นำไปสู่การพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 30 แห่ง ให้เป็นระบบการดูแลแบบครบวงจรและเป็นโมเดลต้นแบบ รวมถึงการส่งข้อมูลต่อไปยังระดับจังหวัด อำเภอ และภาคีที่เกี่ยวข้องต่อไป" นางสาวดวงพร กล่าวย้ำ
รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน กล่าวถึงการพัฒนาเด็กปฐมวัยและประถมศึกษาที่จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือผ่าน 4 ฝ่ายปฏิบัติการในชุมชนท้องถิ่น ว่า ในกลุ่มศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้องเปลี่ยนบทบาทจากครูผู้สอนมาเป็นโค้ช พาเด็กเรียนและเล่นอย่างอิสระ มีการวัดพัฒนาการเด็กและติดตามจนสามารถระบุได้ว่าแต่ละคนมีพัฒนาการอย่างไรซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจาก ผู้ปกครองด้วย นอกจากนี้ในเรื่องการจัดการอาหารต้องมีกระบวนการเรียนรู้เสริมสร้างพัฒนาการ ซึ่งเด็กแต่ละคนต้องได้รับอาหารตามความเหมาะสม ทั้งหมดนี้ถือเป็นการช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็กที่ถูกต้องสมบูรณ์ โดยมีกลุ่ม รพ.สต. และโรงพยาบาลชุมชน ควรร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง เฝ้าระวังปัญหาโรคภัยไข้เจ็บและการเกิดอุบัติเหตุ ขณะที่กลุ่มศูนย์พัฒนาครอบครัวจะเป็นกลไกที่จะช่วยให้สองกลุ่ม รับมือกับปัญหาอื่นๆ และกลุ่มสุดท้ายคือกลไกการเชื่อมประสานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่รับผิดชอบเรื่องการศึกษา จัดการดูแลเด็กปฐมวัย และเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลให้กับทุกฝ่ายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
คุณสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวถึงบทสรุปของความสำเร็จ ว่า การสานพลังทุกภาคส่วนในการทำงาน ทั้งการสานพลังในชุมชนและส่วนราชการที่ เป็นหน้าที่ขององค์กรท้องถิ่น ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของโครงสร้างการบริหารประเทศ และ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภายนอก เช่น มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชน องค์กรสาธารณกุศล เป็นต้น หากชุมชนสามารถสานพลังกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ จะเกิดผลสำเร็จได้อย่างรวดเร็วและนำไปสู่ ความเข้มแข็ง และความพร้อมในการ ที่จะเป็นฐานรากของประเทศต่อไป
คุณดิสสกร กุนธร ประธาน มูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ให้ความเห็น ว่า มูลนิธิฯ มีแนวคิดในการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กผ่านสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ โดยเชื่อว่าการเล่นจะนำไปสู่จินตนาการและเกิดเป็นความรู้ในที่สุด นอกจากนี้การเล่นยังนำมาซึ่งการทำงานเป็นกลุ่ม กลายเป็นความสามัคคี และยังเป็นพื้นฐานของการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ครูและเด็ก
ด้วยการปลูกฝัง "เล่น อ่าน ปั้นเด็ก โดยชุมชนท้องถิ่น" จะสร้างให้เกิดทักษะการอ่าน เขียน และการเรียนรู้ของเด็กชั้นประถมศึกษา เพิ่มมากขึ้น การจะ สอดแทรกข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพก็จะง่ายขึ้น และมีประสิทธิผลมากขึ้น เวทีสานพลังในครั้งนี้จึงเป็นการจุดประกายให้อีกหลายชุมชนท้องถิ่นร่วมกันสร้างการ เปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม
ที่มา : แนวหน้า
ภาพประกอบจาก สสส.